ไอบีเอ็ม’ เผยชิปควอนตัมอาจทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วขึ้น
บริษัทเทคโนโลยี ไอบีเอ็ม (IBM) กล่าวว่าบริษัทได้ผลิตหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบควอนตัม หรือชิปควอนตัมที่ทรงพลัง ซึ่งจะทำให้อีกภายในสองปีข้างหน้า ระบบประมวลผลแบบควอนตัมจะทำงานบางอย่างได้รวดเร็วกว่าระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ทั่วไป
ไอบีเอ็มกล่าวว่า ชิปควอนตัมที่ชื่อว่า “อีเกิล” ของบริษัทมี 127 คิวบิต ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดที่ใช้วัดปริมาณข้อมูลควอนตัม ในขณะที่การทำงานของคอมพิวเตอร์ทั่วไปใช้ บิต เป็นตัววัดข้อมูล ซึ่งใช้เลข 1 หรือ เลข 0 เป็นสัญลักษณ์ แต่ คิวบิต สามารถใช้ทั้งเลข 1 และเลข 0 ได้ในเวลาเดียวกัน
คิวบิตนี้อาจจะทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ทำงานได้รวดเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป อย่างไรก็ตาม การสร้างคิวบิตก็เป็นเรื่องยากและจำเป็นต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำเพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง ไอบีเอ็มกล่าวว่า ชิปอีเกิลนี้เป็นชิปควอนตัมแรกที่จะมีมากกว่า 100 คิวบิต
บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันยังกล่าวอีกว่าระบบการทำความเย็นและระบบการควบคุมที่บริษัทนำมาใช้ในการผลิตชิปอีเกิลนี้ จะช่วยให้บริษัทสามารถผลิตชิปที่มีคิวบิตสูงขึ้นได้ในอนาคต โดยวางแผนที่จะผลิต ชิปออสเปรย์ (Osprey) ในปีหน้า ที่มี 433 คิวบิต และ ชิปคอนดอร์ (Condor) ที่มีถึง 1,121 คิวบิต ไอบีเอ็มยังกล่าวด้วยว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บริษัทคาดหวังว่าจะเข้าใกล้การมี “ความได้เปรียบทางควอนตัม” ซึ่งหมายถึงเมื่อควอนตัมคอมพิวเตอร์จะทำงานได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป
อย่างไรก็ตาม นายดาริโอ กิล รองประธานของไอบีเอ็ม กล่าวว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์จะไม่ได้ทดแทนคอมพิวเตอร์ทั่วไปทั้งหมดเลยทีเดียว เขาคิดว่าในอนาคต การประมวลผลบางอย่างของคอมพิวเตอร์จะใช้ชิปทั่วไปและบางงานจะใช้ควอนตัมชิป